อุทยานแห่งชาติภูฝอยลม

Things to do & Going Out
Post Reply
edie
udonmap.com
Posts: 79
Joined: January 21, 2010, 11:17 am

อุทยานแห่งชาติภูฝอยลม

Post by edie » June 25, 2010, 2:50 pm

Image
Image

ประวัติความเป็นมาของโครงการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม
“Phu Foilom Ecotourism Project”

ภูฝอยลม ” เป็นพื้นที่โล่งบริเวณยอดเขาเทือกเขาภูพานน้อย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพันดอน – ปะโค ท้องที่ตำบลทับกุง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวจังหวัดในทางทิศได้ประมาณ 40 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศ เป็นภูเขาสูงเรียงสลับซับซ้อนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี โดยเป็นจุดกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยหลวง ห้วยสามพาด ห้วยกองสี ห้วยขี้เหล็ก ห้วยวังกุ่ม และพื้นที่แห่งนี้มีป่าหลายชนิด เช่น ป่าดินแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็ง ซึ่งหลายส่วนยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่โดยมีพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่อย่างมากมาย เช่น ยางนา ตะเคียนหิน ประดู่ มะค่า โมง เต็งรัง ฯลฯ มีความชื้นสูง และหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะบริเวณยอดภูฝอยลม ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 600 เมตร จะมีความหนาวเย็นและความชื้นสูงมาก ในอดีตความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ทำให้มีไลเคนชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ ฝอยลม” มีลักษณะเป็นเส้นฝอยสีเขียวปนเทาจนได้รับการขนานนามว่า “ภูฝอยลม” ในอดีต ได้มีการให้สัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ดังกล่าว และราษฎรจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้เข้ามาบุกรุกยึดถือจับจองพื้นที่ป่าจำนวนหลายราย แล้วรวมตัวกนจัดตั้งเป็นหมู่บ้านประมาณ 4 – 5 หมู่บ้านโดยหนังในนั้น คือ “หมู่บ้านฝอยลม” (ตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่) และได้สร้างความ เสียหายให้กับสภาพป่าเป็นอย่างมากในที่สุด นายสายสิทธิ์ พรแก้ว อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เล็งเห็นความสำคัญของป่าผืนนี้ จึงได้มีการรวมส่วนราชาการต่าง ๆ เข้า ทำการอพยพราษฎรที่บุกรุกพื้นที่ป่าให้ออกไปโดยจัดให้อยู่ในพื้นที่ อื่นที่ไม่กระทบต่อการทำลายป่า
Image
ในปี พ.ศ. 2533 สำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดอุดรธานี โดยฝ่ายป้องกันรักษาป่า
(ปัจจุบัน คือ ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้) ได้เข้าทำการศึกษาและสำรวจสภาพป่าบริเวณดังกล่าว พบว่า ป่าบางส่วนยังอุดมสมบูรณ์อยู่ และมีบางส่วนที่เริ่มจะเสื่อมโทรมลง จึงได้หาวิธีที่จะฟื้นฟูสภาพป่าเหล่านี้ โดยแนวทางหนึ่งตามกลยุทธ์เชิงรุกในการป้องกันรักษาป่า โดยได้จัดทำ “โครงการเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้” ขึ้นสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกรักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้กับเยาวชนแล้ว ให้เยาวชนเหล่านี้กระจายความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปบอกต่อกับเพื่อนฝูงบุคคลรอบข้างหรือบุคคลในครอบครัวให้สนใจ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งในระยะแรกได้นำเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่ป่าและขยายผลต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละปีได้มีคณะเยาวชนจากสถานศึกษาต่าง ๆ เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณโครงการ สำหรับจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์อยู่เป็นจำนวนมาก สร้างกระแสด้านการอนุรักษ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก
Image
ในปี พ.ศ. 2535 สำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดอุดราธานี ได้ปรับปรุงวิธีดำเนินกิจกรรมให้มี
รูปแบบดียิ่งขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็น “โครงการเยาวชนพิทักษ์ไพร” ชื่อย่อ “ ย.พ.พ.” โดยจัดฝึกอบรมเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ ภายในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักป่าไม้เขตจังหวัดอุดรธานี จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองบัวลำภู และได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวขึ้น ณ บริเวณภูฝอยลม ท้องที่ตำบลทับกุง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี และในปีเดียวกันสำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดอุดรธานี ก็ได้จัดสร้างโครงการสวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินีขึ้นในบริเวณพื้นที่ติดกัน เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าที่อยู่ในภาคอีสานมาปลูกรวมกันไว้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ เก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ ตลอดจนเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทางเจริญพระชนพรรษา 60 พรรษา โดยทำการรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ และจัดแบ่งเป็นกลุ่มศึกษา ได้แก่ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มพืชโภชนาการ กลุ่มพืชมีพิษ กลุ่มพืชสมุนไพร เป็นต้น
Image
ในปี พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายปองพล อดิเรกสาร) ได้มอบนโยบายด้านการป่าไม้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยให้กรมป่าไม้ จัดหาพื้นที่นอกเหนือจากเขตป่าอนุรักษ์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแบบประหยัด โดยยึดหลักการที่ว่า “ การนันทนาและวิชาการควบคู่กับการบริหาร ” สำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดอุดรธานีจึงได้คัดเลือกและจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าพันดอน ปะโค อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีเทือกเขาใหญ่น้อยมากมาย สภาพธรรมชาติที่สวยงาม บรรยากาศเงียบสงบ อากาศบริสุทธิ์แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่สัมผัสได้ทั้งป่าไม้ สายหมอก ธารน้ำ สัตว์ป่า และในป่าผืนนี้ยังมีจุดที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ และยุทธศาสตร์อีกหลายแห่ง เช่น จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นจังหวัดอุดรธานีได้อย่างชัดเจนในเวลาที่ท้องฟ้าแจ่มใส สวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษมหาราชินี โครงการที่รวบรวมพันธุ์ไม้ป่าไว้หลาย ๆ ชนิดในท้องถิ่นเข้ามาปลูกรวมกัน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และพักผ่อนหย่อนใจน้ำตกคอยนาง น้ำตกธารงาม สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักอย่างดีของ ชาวจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง วัดถ้ำสหาย ซึ่งในอดีตเคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นสภาพของวัดป่า ซึ่งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก สนามเป้าแหล่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ของทางสหรัฐอเมริกา ในสมัยสงครามเวียดนาม นากจากนี้นักท่องเที่ยวยังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสภาพป่าที่ถูกบุกรุกทำลายให้กลับมาเป็นผืนป่าอีกครั้ง ในโครงการปลูกป่าสงวนแห่งชาติป่าพันดอน – ปะโค แปลงปลูกป่าสาธิต จำนวนหลายพันไร่และ ในพื้นที่โครงการฯ มีเส้นทาง “ จักรยานเสือภูเขา ” ฯลฯ ซึ่งสถานที่ทั้งหมดนี้อยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน สามารถที่จะเดินทางไปถึงจุดต่างๆ ได้ทั้งทางเดินเท้าและทางรถยนต์ และที่ตั้งห่างจากตัวเมืองอุดรธานี ประมาณ 35-50 กิโลเมตร เดินทางได้สะดวกทุกฤดูกาล โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เท่านั้น โดยมีเส้นทางคมนาคมหลักได้ 5 เส้นทาง เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ สำหรับดำเนินการในเบื้องต้นเมื่อปี พ.ศ. 2541-2542
ในปีงบประมาณ 2545 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ( พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ) ได้มีนโยบายเร่งด่วนเกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ และจำนวนมากยิ่งขึ้น จึงได้อนุมัติเงินงบประมาณจากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (งบกลาง สกศ./45) เพื่อดำเนินการให้ต่อเนื่องโดยใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิง อนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าพันดอนปะโค (ภูฝอยลม) ” ซึ่งปัจจุบันมีประชาชน นักเรียน นักศึกษา เข้าไปเที่ยวชม ทัศนศึกษาเข้าค่ายด้านสิ่งแวดล้อม จัดประชุมสัมมนาเป็นจำนวนมากและผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี(นายชัยพร รัตนนาคะ) มีแผนการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาค และของประเทศ และได้มีแผนงานในการจัดทำโครงการอุทยานก่อนประวัติศาสตร์ และเส้นทางศึกษาไดโนเสาร์ ซึ่งมีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูล ความรู้ ด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์ และมีการก่อสร้างหุ่นจำลองไดโนเสาร์หลายยุคและการปั้นหุ่นวิวัฒนาการมนุษย์ และการพัฒนาในครั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนและจากผลักดันจากหลาย ๆฝ่าย เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุดรธานี เขต 4 (นายธีระยุทธ วานิชชัง) หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน อนึ่ง โครงการได้ขออนุมัติกรมป่าไม้เปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงาน “โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าพันดอน - ปะโค ” เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม ” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Phu Foilom Ecotourism Project” เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป
โดย ....นายสุรเชษฐ์ มหาเสนา นักวิชาการวัฒนธรรม 7ว


Image



Post Reply

Return to “ทำอะไรและไป”